ทำอย่างไร  เมื่อลูกปฏิเสธอาหาร นักโภชนาการอาหารเด็ก สวนเด็กสุทธาเวชมีทางออก

เชื่อว่าหลายครั้ง และหลายครอบครัวต้องเคยเจอประสบการณ์ลูกน้อยไม่อยากทานอาหาร งอแงปฏิเสธอาหารแม้จะเป็นสิ่งที่ชอบทานก็เช่นกัน

คุณครูชันณิษา ดีสม  นักโภชนาการอาหารเด็ก และคุณครูประจำสวนเด็กสุทธาเวช
เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เจ้าจิ๋วของเราเบื่ออาหาร ไม่อยากทาน หรือมักปฏิเสธอาหารตรงหน้า อาจมาจากหลายเหตุผล เช่น เด็กๆ ไม่เคยรู้จัก หรือไม่เคยลองทานมาก่อน, หน้าตา สีสันไม่น่าทาน ไม่น่าสนใจ, เคยมีประสบการณ์ในการลองแล้ว ไม่อร่อยไม่ถูกปาก รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ

สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่สามารถทำได้คืออะไร???

หากปลายทางคืออาหาร แน่นอนว่าการหมั่นหมุนเวียนอาหาร ให้มีเมนูที่หลากหลายขึ้น เป็นสิ่งที่ช่วยได้ เราไม่ควรให้ลูกทานแต่สิ่งที่ชอบ ที่ถูกใจซ้ำๆ เพราะไม่เป็นผลดีกับตัวเด็กๆ การทานอาหารซ้ำๆ จะทำให้สารอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์อาจขาดหายไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและสมอง..ฉะนั้นการได้รับอาหารที่หลากหลายก็จะช่วยให้ลูกมีโอกาสได้รับสารอาหารที่หลากหลายเช่นกัน

แต่วันนี้เราจะมาบอกเล่าวิธีการสร้างประสบการณ์ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการกระตุ้นความอยากอาหารด้วยตัวของเขาเอง เหนือสิ่งอื่นใด คุณพ่อคุณแม่ ต้องเปิดใจและยอมรับที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ไปพร้อมๆ กับเขา และสอนให้รู้จักสิ่งอันตรายต่างๆ เพื่อเขาจะได้ระมัดระวัง

หากพร้อมแล้ว.. ลองลงมือทำกันเลย

1. พาไปรู้จักกับวัตถุดิบที่ต้นทาง หรือแหล่งวัตถุดิบใกล้บ้านที่สะดวก เช่น พาเข้าสวนครัวดูพักที่ปลูก ดูแหล่งอาหารในชุมชน, ตลาด

2. ให้เด็กๆ ช่วยคิด ช่วยออกแบบเมนูด้วยว่าอยากนำวัตถุดิบนี้ไปทำเป็นอะไรดี หรืออยากทานอะไรจากวัตถุดิบนี้ 

3. พาลงมือทำ เรียนรู้ผ่านการเล่นเป็นเชฟ ทำอาหารกับเมนูง่ายๆ ให้เป็นลูกมือช่วยหยิบจับ ลองชิม ลองทานด้วยตัวเอง สนุกไปกับการทำและการทาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่คุณพ่อคุณแม่สร้างให้

ผลลัพธ์ที่มากกว่าการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว คือวิธีคิดใหม่ ประสบการณ์ใหม่จะถูกซึมซับโดยการสังเกตและจดจำ ผ่านสัมผัสทั้ง 5

  • ตา ได้เห็น ไม่มองดูวัตถุดิบ รูปร่าง สี ทั้งจากต้นทางก่อนถูกนำมาทำอาหาร และเมื่อปรุงเป็นอาหารแล้ว มีลักษณะเปลี่ยนไป กลิ่นก็เปลี่ยนไป หรือได้จากดูตัวอย่างการทำ
  • จมูก ได้กลิ่น กลิ่นธรรมชาติของวัตถุดิบ กลิ่นของอาหาร ช่วยกระตุ้นความอยากทานได้ด้วย
  • หู ได้รับฟังคำสั่ง การอธิบายขั้นตอนการทำจากคุณพ่อคุณแม่ เรียบเรียงและจดจำทำตาม
  • มือ ได้จับต้อง สัมผัสของจริง ผิวสัมผัสวัตถุ ขยำ กำ จับ ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ของเค้าอย่างสนุกสนาน
  • ปาก ได้รับรส ลองชิม ลองทานสิ่งที่เขาได้ลงมือทำด้วยตัวเอง

และมากกว่าสารอาหารที่จะได้รับ คือการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ สร้างความจดจ่อสนใจ และความสำเร็จเล็กๆ จะทำให้เค้าภาคภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง อยากที่จะลองทานฝีมือของตนเอง เท่านี้ก็จะช่วยลดอาการเบื่อหรือปฏิเสธอาหารได้

คุณพ่อคุณแม่อาจมีคำถามในใจ ว่าลูกเราจะทำได้หรือ อันที่จริงเด็กๆ มีศักยภาพกว่าที่คิด เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่อย่ากังวล อย่าปิดกั้น ให้เค้าได้เรียนรู้ เราอาจต้องประกบในบางเรื่อง เช่น การใช้ของมีคม ทำอย่างไร คมอยู่ตรงไหน บาดแล้วจะเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร เพื่อให้ลูกรู้จักสังเกตและระมัดระวัง หรือความร้อน คืออะไร ส่วนไหนที่ต้องระวัง ส่วนไหนจะทำให้เกิดอันตราย เป็นต้น

หากกังวลใจ คุณพ่อคุณแม่อาจออกแบบเมนูที่ทำง่ายๆ หรือมีการแบ่งหน้าที่ง่ายๆ อย่าง ช่วยล้างผัก ชวนใส่เครื่องปรุง ช่วยวางในซึ้งก่อนนำไปนึ่งเพื่อให้เค้าได้อยู่ในกระบวนการไปด้วยจบจน

ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ อาจต้องใช้ความอดทนและเข้าใจในการทำสิ่งต่างๆ ร่วมกับลูกและหมั่นสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองกับลูกบ่อยๆ ให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามวัย และใช้จินตนาการอย่างสร้างสรรค์ 

มีเพียงโอกาสวัยก่อน 3 ขวบปีนี้ ที่จะสร้างรากฐานให้ลูกน้อยเติบโตอย่างมีคุณภาพ… ห้ามพลาดเด็ดขาด

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *