มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ชูต้นแบบ “Day Care นมแม่”

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ชูต้นแบบ “Day Care นมแม่” ผลักดันสู่นโยบายสร้างเสริม พัฒนาการเด็กไทยอายุ 3 เดือน – 3 ปี ผ่านการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ จับมีอกรมอนามัย และแพทย์-พยาบาลขับเคลื่อนต้นแบบสถานพัฒนาเด็กเล็ก เน้นนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน นมแม่อาหารตามวัยและการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย 

ปัจจุบันการให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องมีการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพที่สามารถยกระดับการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัย 3 เดือนถึง 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เรียกว่า “หน้าต่างแห่งโอกาส” ซึ่งข้อมูลวิชาการยืนยันว่าถ้าลูกได้กินนมแม่ลูกมีโอกาสฉลาด และยิ่งได้กินมากยิ่งมีโอกาสฉลาดมาก แต่จะมีผลดีมากกว่านี้ หากลูกได้รับนมแม่ควบคู่กับการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้แบบมีคุณภาพ Early Chilchood Educotion and Care (ECEC) 

ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย 2565 พบว่าเมื่อแม่ลาคลอดครบ 3 เดือนและต้องกลับไปทำงาน เด็กจะได้รับการเลี้ยงดูจากปู่ย่าตายายถึงร้อยละ 70.6 ซึ่งมีผลต่อคุณภาพในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก เราจะมีวิธีการสนับสนุนให้เด็กได้กินนมแม่ครบ 6 เดือนได้อย่างไร  ทำอย่างไรให้มีคนดูแลลูกแทนแม่ ให้ลูกได้อยู่ใกล้ๆ ให้แม่สามารถมาโอบกอดและเลี้ยงลูกได้  คำตอบก็คือการมี Day Care คุณภาพใกล้บ้านหรือในที่ทำงาน

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงชูต้นแบบ 2 Day Care คุณภาพ “สถานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย” และ “สวนเด็กสุทธาเวช โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ 

เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของการมีสถานที่รองรับ ให้มีผู้ทำหน้าที่แทนแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่ไม่พร้อม เพื่อให้ลูกยังคงได้กินนมแม่ และได้รับการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงอายุ 3 เดือน-3 ปี  ซึ่งเป็นช่องว่างสำคัญคือมีไม่เพียงพอของประเทศ

ทั้ง 2 สถานที่มีการให้บริการ การเลี้ยงดู และการดูแลเด็ก รวมถึงการจัดระบบและฝึกฝนตัวเด็กเองให้สามารถรับผิดชอบต่อหน้าที่ตนเองและการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานได้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งยังมีพื้นที่ให้เด็กพัฒนาความคิดและสมองเนื่องจากช่วงอายุ 3 ขวบปีแรกสมองมีการพัฒนาเร็วมากมีน้ำหนักมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อและการสร้างเครือข่ายของเซลล์สมองอย่างมหาศาล ส่งผลถึงพฤติกรรมและบุคลิคของเด็กเมื่อโตขึ้น

นพ.ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย กล่าวว่าปัจจุบันแม่สามารถลาคลอดได้ 3 เดือน แต่ในความเป็นจริงหลังคลอดเพียง 1 เดือนก็ต้องกลับไปทำงานแล้ว การมีศูนย์ดูแลพัฒนาเด็กเล็ก 3 เดือนถึง 3 ปีที่มีคุณภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำให้เด็กไทยกินนมแม่ได้นานที่สุด

“Day Care ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น มุ่งเน้นการดูแลเด็กตั้งแต่ 3 เดือนถึง 4 ปี ให้ครบทุกด้านทั้งร่างกาย จิตใจสังคม สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมพัฒนาการและจัดการเรียนรู้ตามช่วงวัย โดยใช้การเรียนรู้ผ่านการเล่น พัฒนาทักษะชีวิตรอบด้าน เน้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และนมแม่คู่อาหารตามวัยนานถึง 1 ปี ซึ่งเราพร้อมเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆ ในการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพออกไปในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ”

ผศ.นพ.เทพลักษณ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สวนเด็กสุทธาเวช เป็น Day Care ของคณะ ที่ดูแลเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยเน้นนมแม่และการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นหลัก เพราะเชื่อมั่นว่าการให้ลูกได้รับนมแม่ ได้อาหารตามวัย ไม่ปฏิเสธผัก เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญในการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ดี การเลี้ยงดูเด็ก ด้วยกิจกรรมรายวัน ที่ส่งเสริมมิติพัฒนา จิตใจ อารมณ์ สังคม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ภาษาที่ 2 จริยธรรม ความสุนทรี ความเข้าใจวัฒนธรรมอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่สามารถทำได้แม้เด็กจะยังเล็กมาก ชมได้ผ่าน website สวนเด็กสุทธาเวช เด็กต้องการการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพเพื่อสร้างสุขนิสัยและสุขภาวะที่ดี

“การลงทุนกับเด็กเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด เมื่อเราต้องการให้เด็กไทยเติบโตเป็นคนไทยยุค 4.0 สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ได้ จึงต้องเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ดีที่สุดนั่นก็คือนมแม่และการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ ปัจจุบันสวนเด็กสุทธาเวชเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องของการดูแลเด็กเล็ก โดยร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจังหวัดมหาสารคาม พร้อมขยายผลแนวคิด และวิธีการดูแลเด็กเล็กออกไปสู่สถานพัฒนาเด็กเล็กภาคีเครือข่ายในพื้นที่จำนวน 24 แห่ง เพื่อร่วมกันนำความรู้ในการดูแลเด็กเล็กไปสร้างเด็กมหาสารคามให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ”

ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้จัดการโครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ฯ สสส. ระบุว่า เด็กที่อายุ 3 ปีสมองจะมีการเจริญเติบโตสูง มีน้ำหนักสูงถึงร้อยละ 80 ของสมองผู้ใหญ่ อาหาร สิ่งแวดล้อม อากัปกิริยา วิธีการพูด การคุย การดุ การไม่ใส่ใจตอบสนองความต้องการของเด็ก เช่น ร้องหิว แต่ไม่มีนมมาให้ทัน ล้วนมีผลต่อการเติบโตของสมองในระดับโครงสร้าง ซึ่งหมายถึงการฝังลึก เด็กจำไม่ได้เมื่อโตขึ้นแต่ความรู้สึกจะถูกฝังและพร้อมจะส่งสัญญาณออกมากำกับพฤติกรรม คุณลักษณะเมื่อโตขึ้น การลดหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดประสบการณ์ที่ทำให้เด็กกลัว ไม่กล้า เช่นดุ ห้ามไปหมด ไม่ยอมให้เด็กได้ลองทำ เป็นเรื่องที่ต้องพยายามลดให้มากที่สุด

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นคำตอบสำหรับการเติบโต การเชื่อมต่อของเซลล์สมอง ที่ดีที่สุด การศึกษาวิจัยทยอยมีข้อมูลยืนยันประโยชน์นมแม่โดยเฉพาะที่นมผสมไม่สามารถมีได้ คือเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ระบบการเติบโตของสมอง (มีเนื้อสมองมากกว่า) การมีสารช่วยกระตุ้นการเชื่อมต่อปลายประสาท (สารไมโออินโนซิทอล myoinositol) ภูมิคุ้มกันจากระบบจุลินทรีย์สุขภาพ ฯลฯ ช่วยเสริมทารกและเด็กไม่ป่วยบ่อย เมื่อบวกการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ ส่งเสริมพัฒนาเชาวน์ปัญญาที่ดีกว่า รวมทั้งต้นทุนคุณลักษณะคนพร้อมอยู่ในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งการลดโอกาส การเกิดปัญหาโรค NCDs

พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันการดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ยังไม่มีนโยบายหรือการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เด็กไทยที่เกิดน้อยลงเพียง 5 แสนรายต่อปีได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ โดยมีนมแม่และการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคนรุ่นใหม่ เป็นการลงทุนพัฒนากำลังคนของประเทศที่คุ้มค่าที่สุด

“มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ส่งเสริมและสนับสนุนให้สังคมไทยเห็นความสำคัญและหันมาดูแลเด็กแรกเกิดถึง 3 ปีโดยมีนโยบายและการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาเด็ก เพราะช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นหน้าต่างแห่งโอกาส เด็กไทยทุกคนไม่ควรที่จะต้องพลาดการที่จะได้รับการพัฒนาตนเองในช่วงเวลานี้ ดังนั้นการสนับสนุนให้แม่สามารถลาคลอดได้ 6 เดือน และการมี Day Care คุณภาพจะช่วยให้เด็กไทยที่เกิดน้อยเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ สามารถที่จะดูแลประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต”

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *